การรักษาหลุมสิวด้วยวิธีเซาะพังผืด
Subcision เป็นการรักษาหลุมสิวด้วยวิธีเซาะพังผืด โดยใช้เข็มที่มีขนาดเล็ก (เบอร์ 18, เบอร์ 21) หรือที่เรียกว่า Nokor Needle เป็นเข็มที่มีลักษณะพิเศษตรงที่บริเวณปลายเข็มจะเป็นมีดขนาดเล็กไว้ใช้สำหรับตัด เซาะ พังผืดบริเวณหลุมสิวของเรา แต่ไม่ได้ตัดทิ้งไป เพื่อให้เกิดแผลหรือช่องว่างใต้หลุมสิวของเรา จากนั้นพังผืดที่ยึดอยู่ที่หลุมสิวหลุดออก และเป็นการกระตุ้นผิวหน้าของเราให้มีการรักษาอาการบาดเจ็บจากการถูกเซาะผิว โดยการเร่งสร้างคอลลาเจนบริเวณหลุมสิวของเรา Subcision เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาหลุมสิวมานานหลายปี โดยที่ไม่เคยรักษามาก่อน หากรักษาหลุมสิวด้วยวิธีอื่นก่อนอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จึงต้องมีการทำ Subcision ก่อน เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ

ข้อดีของการรักษาหลุมสิวด้วย Subcision
- Subcision เป็นวิธีรักษาหลุมสิวที่มีประสิทธิภาพ เพราะมีการเซาะพังผืดออก จึงทำให้เกิดการสร้างเนื้อที่หลุมสิวอย่างเต็มที่ เหมาะกับคนที่เป็นหลุมสิวมานาน โดยเฉพาะคนที่เป็นหลุมสิวแบบแอ่งกระทะ การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่มีผลข้างเคียง เพราะไม่มีการใช้แสงเลเซอร์ การใส่สารเข้าสู่ผิว
- ไม่มีแผลเป็น และแผลที่เกิดจากการเซาะนั้น มีขนาดเล็กมาก อาจจะมีอาการช้ำในช่วงแรก แต่จะหายไปภายใน 1 สัปดาห์
- ค่าใช้จ่ายในการทำไม่สูงเมื่อเทียบกับเลเซอร์
- หลังทำ Subcision ผู้รับการรักษาสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องพักฟื้น
ข้อเสียของการรักษาหลุมสิวด้วย Subcision
- เกิดรอยช้ำจากการทำ 3-14 วัน ขึ้นอยู่แต่ละบุคคล (อาจเกิดความเขียวช้ำได้หากไปโดนเส้นเลือด แต่ไม่ได้อันตราย)
- อาจเกิดความรู้สึกเจ็บเล็กน้อยหลังการรักษา
- หากทำในคลินิกที่ไม่ได้มาตรฐาน ใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาด อาจเกิดการติดเชื้อใต้ผิวหนังได้
ขั้นตอนการรักษาหลุมสิวด้วย Subcision
- ผู้ช่วยแพทย์จะทำการทำความสะอาดหน้าบริเวณที่จะทำเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ทายาชาที่ใบหน้า ทิ้งไว้ประมาณ 30 – 45 นาที หรือฉีดยาชา (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์)
- แพทย์จะสอดเข็มลงใต้ผิวหนัง เพื่อไปตัดผังผืดใต้ผิวหนัง โดยการทำจะเซาะทีละหลุมๆ ละค่อยๆทำไปทั่วใบหน้า
- ระหว่างที่ทำจะมีการคอยซับเลือดที่เกิดจากการเซาะหลุมสิว และมีการประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมของแผลไปด้วย
- หลังทำจะมีรอยเข็มในบริเวณที่ทำ สามารถประคบเย็นอีกรอบเพื่อลดความบวมได้ อาจจะมีอาการบวมช้ำอยู่ประมาณ 3-7 วัน หลังจากนั้นหลุมสิวจะตื้นขึ้น และควรเข้ามาพบแพทย์อย่างน้อย 2 สัปดาห์/ครั้ง หลังทำการรักษา เพื่อติดตามและประเมินผลการรักษา